วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาและอุปทานต่อราคา

ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคาและอุปทานต่อราคา

ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ (Elasticity of Demand)

            ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ (Elasticity of Demand) หมายถึง อัตราการเปลี่ยนแปลงความต้องการซื้อสินค้าต่ออัตราการเปลี่ยนแปลงปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดอุปสงค์ เช่น ราคา รายได้ ราคาสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ความยืดหยุ่นของอุปสงค์มี 3 ชนิด ดังนี้

1. ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา

ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา (Price Elasticity of Demand) เป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการซื้อสินค้าเมื่อราคาสินค้าเปลี่ยนแปลง โดยวัดออกมาในรูปของร้อยละ
        ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา (Ed) =       % การเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการซื้อ
                                                                                         % การเปลี่ยนแปลงของราคา

2. ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อรายได้ (Income Elasticity of Demand)

            อุปสงค์ต่อรายได้ หมายถึง จำนวนต่างๆ ของสินค้าที่ผู้บริโภคต้องการเสนอซื้อ ณ ระดับรายได้ต่างๆ ภายในระยะเวลาหนึ่ง  โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่
            ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อรายได้ (Income Elasticity of demand) หมายถึง การวัดอัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการซื้อสินค้าเมื่อรายได้เปลี่ยนแปลง
       ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อรายได้ (Ey) =     % การเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการซื้อ
                                                                                         % การเปลี่ยนแปลงของรายได้

3. ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ไขว้ (Cross - Price Elasticity of Demand)

            อุปสงค์ไขว้ หมายถึง ปริมาณความต้องการซื้อสินค้าชนิดหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆ พิจารณาต่อสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่เกี่ยวข้องภายในระยะเวลาหนึ่ง โดยกำหนดให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ไขว้ (Cross - Price Elasticity of Demand) หมายถึง การวัดอัตราการเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการซื้อสินค้าเมื่อราคาสินค้าชนิดอื่นที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลง
สินค้าที่เกี่ยวข้องกันแบ่งได้ 2 ชนิด ดังนี้
            สินค้าที่ใช้ประกอบกัน (Complementary Goods) เป็นสินค้าที่ในการอุปโภคบริโภคต้องใช้ร่วมกัน ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะไม่สามารถบริโภคได้ เช่น รถยนต์และน้ำมัน เป็นต้น ความสัมพันธ์ของสินค้าที่ต้องใช้ประกอบกันจะมีทิศทางตรงกันข้ามหรือเป็น -
            สินค้าทดแทนกัน (Substitute Goods) เป็นสินค้าที่ในการอุปโภคบริโภค ถ้าหาสินค้าชนิดหนึ่งไม่ได้สามารถใช้สินค้าอีกชนิดหนึ่งทดแทนได้ เช่น เนื้อหมูกับเนื้อไก่ เป็นต้น ความสัมพันธ์ของสินค้าที่ใช้ทดแทนกันได้จะมีทิศทางเดียวกันหรือเป็น +
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ไขว้ (Ec) = %การเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการซื้อสินค้า A        
                                                                           % การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า B

 ความยืดหยุ่นของอุปทาน (Elasticity of Supply)

            ความยืดหยุ่นของอุปทาน (Elasticity of Supply) หมายถึง เปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงปริมาณความต้องการขายสินค้าต่อเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า ค่าความยืดหยุ่นที่คำนวณได้จะมีเครื่องหมายเป็นบวกเนื่องจากราคาและปริมาณความต้องการขายมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกัน การคำนวณค่าความยืดหยุ่นของอุปทานทำได้ดังนี้
ความยืดหยุ่นของอุปทานต่อราคา (Es) =  % การเปลี่ยนแปลงของปริมาณความต้องการขาย        
                                                                                        % การเปลี่ยนแปลงของราคา

ปัจจัยที่กำหนดค่าความยืดหยุ่นของอุปทาน

            ความยากง่ายและเวลาที่ใช้ในการผลิต สินค้าที่สามารถผลิตได้ง่ายและใช้เวลาในการผลิตสั้นอุปทานของสินค้ามีค่าความยืดหยุ่นสูง
            ปริมาณสินค้าคงคลัง สินค้าที่มีสินค้าคงคลังสำรองมาก อุปทานของสินค้าจะมีความยืดหยุ่นสูง
            ความหายากของปัจจัยการผลิต ถ้าปัจจัยที่ใช้ในการผลิตสินค้ามีจำนวนจำกัดและหายาก ต้องใช้เวลาในการหาปัจจัยการผลิตนาน อุปทานของสินค้าชนิดนั้นจะมีความยืดหยุ่นต่ำ
            ระยะเวลา ถ้าระยะเวลานานความยืดหยุ่นของอุปทานจะมากเพราะผู้ผลิตสามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ปัจจัยการผลิตได้ทุกชนิด แม้แต่เทคโนโลยีและเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ 


ประโยชน์ของค่าความหยืดหยุ่น

1.              ในการวางนโยบายหรือมาตรการของรัฐ เช่น การจัดเก็บภาษีจากสินค้า รัฐจะต้องรู้ว่าสินค้านั้นมีความหยืดหยุ่นเท่าไร เพื่อจะได้ทราบว่าภาระภาษีจะตกไปบุคคลกลุ่มใด
2.              ช่วยให้หน่วยุรกิจสามารถดำเนินกลยุทธทางด้านราคาได้อย่างถูกต้องว่าสินค้าชนิดใดควรตั้งราคาสินค้าไว้สูงหรือต่ำเพียงใด  ควรเพิ่มหรือลดราคาสินค้า จึงจะทำให้รายได้รวมกำไรของธุรกิจจะเพิ่มขึ้น
3.              นำมาใช้ประกอบการพยากรณ์แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
นำมาจาก msci.chandra.ac.th/econ/ch3elastic.doc

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น